เคล็ดลับวิธีจับตะเกียบแบบจีน เรียนรู้ง่าย ใช้ได้จริง
ไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปร่วมงานแต่งงานของเพื่อนสนิท ในบรรยากาศที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยความสุข ขณะที่เรากำลังรับประทานอาหารโต๊ะจีนกันอยู่นั้น ผมสังเกตเห็นว่าเพื่อนคนหนึ่งกำลังใช้ตะเกียบคีบอาหาร แต่ดูเหมือนว่าเขาจะจับตะเกียบไม่ถูกต้องทำให้การคีบอาหารนั้นดูติดขัด ตอนนั้นเองที่ผมตระหนักได้ว่า สิ่งที่เราทำเป็นประจำและเห็นว่าเป็นเรื่องง่าย อย่างการใช้ตะเกียบ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนอื่นเสมอไป
การใช้ตะเกียบ ไม่เพียงแต่เป็นทักษะที่สำคัญในการรับประทานอาหารจีน แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมและมารยาทบนโต๊ะอาหารอีกด้วย ดังนั้น ผมจึงอยากแบ่งปันวิธีการจับตะเกียบแบบจีนที่ถูกต้อง เพื่อให้ทุกคนสามารถเพลิดเพลินกับอาหารได้อย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นในงานเลี้ยงสังสรรค์หรือมื้ออาหารกับครอบครัว
หัวข้อ
ประวัติและความเป็นมาของตะเกียบ
ก่อนที่จะเริ่มต้นวิธีจับตะเกียบ ผมอยากจะเล่าถึงที่มาที่ไปของตะเกียบที่เปรียบเสมือนอาวุธชิ้นหนึ่งบนโต๊ะอาหาร เจ้าไม้สองแท่งนี้มีประวัติยาวนานกว่า 5,000 ปี และมีต้นกำเนิดขึ้นในประเทศจีน เริ่มจากการใช้กิ่งไม้หรือไม้ไผ่คีบอาหารจากหม้อร้อน ๆ ในสมัยราชวงศ์ชาง ต่อมาในช่วงราชวงศ์ฮั่น ตะเกียบกลายเป็นเครื่องมือหลักในการรับประทานอาหาร และแพร่หลายไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี
วิธีจับตะเกียบแบบจีนอย่างถูกต้อง
ว่าด้วยวิชาจับตะเกียบแบบจีน อาจจะดูยากในครั้งแรก แต่ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ ต่อไปนี้ คุณจะสามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว
ขั้นตอนที่ 1: นิ้วโป้งวางอยู่ข้าง ๆ นิ้วชี้
ตำแหน่งนิ้วโป้งอยู่ข้าง ๆ นิ้วชี้ เพื่อเตรียมการจับตะเกียบ
ขั้นตอนที่ 2: นิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง จับตะเกียบแท่งบนเบา ๆ คล้ายจับปากกา
ใช้มือจับตะเกียบแท่งบนด้วยนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง เหมือนกับการจับปากกา หากวิธีการจับปากกาของคุณแตกต่างออกไป คุณอาจต้องฝึกฝนเพิ่มเติมเล็กน้อย
ขั้นตอนที่ 3: ขยับตะเกียบแท่งบนเพื่อคีบเท่านั้น
ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางขยับตะเกียบแท่งบนขึ้นลงเพื่อคีบอาหาร ในขณะที่ตะเกียบแท่งล่างอยู่ที่เดิม
ขั้นตอนที่ 4: ปลายตะเกียบเสมอกัน
ตรวจสอบว่าปลายตะเกียบทั้งสองแท่งอยู่ในระดับเดียวกัน เพื่อความแม่นยำในการคีบอาหาร
ขั้นตอนที่ 5: วางตะเกียบแท่งล่างไว้ข้างเล็บนิ้วนาง และฐานระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้
ตะเกียบแท่งล่างควรวางพาดข้างเล็บนิ้วนาง และพักบนฐานระหว่างนิ้วโป้งและนิ้วชี้ ตะเกียบแท่งล่างจะไม่ขยับขณะคีบอาหาร
ขั้นตอนที่ 6: ปลายตะเกียบยื่นเลยมือออกมาประมาณ 1 ซม.
ปรับตำแหน่งของตะเกียบให้ปลายยื่นเลยมือออกมาประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อความสมดุลและการควบคุมที่ดี
ความแตกต่างระหว่างตะเกียบจีน เกาหลี และญี่ปุ่น
การรู้ถึงความแตกต่างของตะเกียบในแต่ละประเทศจะช่วยให้คุณเข้าใจวัฒนธรรมการรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น
ตะเกียบจีน
- ความยาวและรูปทรง: ยาวที่สุด ประมาณ 25-30 ซม. ปลายทู่กลม ด้ามจับทรงสี่เหลี่ยม
- วัสดุ: ไม้ ไม้ไผ่ พลาสติก หยก หรืองาช้าง
- ที่มาและการใช้งาน: ตะเกียบของคนจีนจะมีความยาวมากกว่าของญี่ปุ่นและเกาหลี เนื่องจากวัฒนธรรมของชาวจีนนั้นชอบทานอาหารด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ ช่วยให้คีบอาหารจากกลางโต๊ะได้สะดวก
ตะเกียบเกาหลี
- ความยาวและรูปทรง: สั้นกว่าตะเกียบจีน ประมาณ 20-25 ซม. รูปทรงแบนและสี่เหลี่ยม ปลายทู่
- วัสดุ: โลหะ เช่น สแตนเลสสตีล หรือเงิน
- ที่มาและการใช้งาน: ตะเกียบเกาหลีสังเกตได้ง่าย เมื่อเห็นก็จะรู้ทันทีว่านี่คือตะเกียบของชาวแดนกิมจิ เนื่องจากตะเกียบเกาหลีทำมาจากโลหะหรือเงิน มีน้ำหนักมากกว่าตะเกียบไม้ เนื่องจากในอดีตราชวงศ์เกาหลีมักถูกลอบวางยาพิษอยู่บ่อยครั้ง จึงเปลี่ยนจากตะเกียบไม้เป็นโลหะหรือเงินแทน เพราะเมื่อปลายตะเกียบที่ทำจากโลหะหรือเงินสัมผัสกับยาพิษมันจะเปลี่ยนสี ทำให้สามารถตรวจจับยาพิษได้ง่าย ปัจจุบันชาวเกาหลีมักใช้ตะเกียบคู่กับช้อนโลหะ (ซูจอ) เหมาะสำหรับการรับประทานอาหารย่างหรือผัด
ตะเกียบญี่ปุ่น
- ความยาวและรูปทรง: สั้นที่สุด ยาวประมาณ 20-23 ซม. ปลายเรียวแหลม
- วัสดุ: ไม้ ไม้ไผ่ เคลือบแลคเกอร์ ตกแต่งลวดลายสวยงาม
- ที่มาและการใช้งาน: ตะเกียบของญี่ปุ่นจะปลายแหลมเพื่อช่วยในการหยิบอาหารที่ละเอียดอ่อน เช่น ซาชิมิ ด้ามจับถนัดมือไม่ยาวเท่าของจีนเพราะวัฒนะธรรมของคนญี่ปุ่นนิยมทานอาหารในจานตัวเองมากกว่าทานร่วมกันกับผู้อื่น
8 ข้อห้ามในการใช้ตะเกียบของคนจีน
เพื่อแสดงถึงมารยาทและความเคารพบนโต๊ะอาหาร ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังต่อไปนี้:
1. ห้ามปักตะเกียบลงในอาหาร
การปักตะเกียบลงในข้าวหรืออาหารสื่อถึงพิธีกรรมทางศาสนาและการไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งไม่เหมาะสมในสถานการณ์ทั่วไป
2. ห้ามใช้ตะเกียบชี้ไปที่ผู้อื่น
ถือว่าไม่สุภาพและแสดงถึงการไม่เคารพ
3. ห้ามเคาะตะเกียบบนชามหรือโต๊ะ
เป็นสัญญาณของการขออาหารหรือแสดงความไม่พอใจ
4. ห้ามดูดหรือเลียตะเกียบ
ไม่สุภาพและไม่สะอาด
5. ห้ามเขี่ยหาอาหารด้วยตะเกียบ
การใช้ตะเกียบเขี่ยหาอาหารที่ต้องการในจาน ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สุภาพ
6. ห้ามวางตะเกียบไขว้กันเป็นกากบาทบนโต๊ะ
เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่ดีในวัฒนธรรมจีน
7. ห้ามเล่นหรือหมุนตะเกียบ
ถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและรบกวนผู้อื่น
8. ห้ามส่งอาหารจากตะเกียบสู่ตะเกียบ
เนื่องจากเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนา
สรุปส่งท้าย
หลังจากที่ได้คุณได้อ่านเรื่องราวและเคล็ดลับวิธีจับตะเกียบนี้แล้ว ผมหวังว่าคุณจะรู้สึกมั่นใจมากขึ้นในการหยิบตะเกียบขึ้นมาใช้งาน การจับตะเกียบแบบจีนที่ถูกต้องนั้นไม่ยากอย่างที่คิดเลยครับ แค่ฝึกฝนเล็กน้อยและเปิดใจรับวัฒนธรรมใหม่ ๆ คุณก็จะสามารถเพลิดเพลินกับมื้ออาหารได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าคุณจะเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้น หรือคนที่อยากปรับปรุงวิธีจับของตนเองให้ถูกต้อง ผมก็ขอให้คุณสนุกกับการคีบอาหารใส่ปากอย่างเอร็ดอร่อยนะครับ